วันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ถือเป็นประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่มีปรากฏหลักฐานแน่ชัดเจนว่าเริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยจากข้อมูลบางส่วนที่ปรากฏได้ระบุไว้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อครั้ง สุโขทัย เป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีประเพณีนี้จะเป็นพิธีของพราหมณ์ที่กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ยึดถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยมีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และมีการลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมทา (แม่น้ำนัมทา เป็นแม่น้ำที่อยู่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัยที่ไหลลงสู่ภาคตะวันตกของอินเดีย แม่น้ำแห่งนี้เป็นตัวแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้)
วันลอยกระทง ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ส่วนปฏิทินจันทรคติล้านนา วันลอยกระทงมักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ส่วนปฏิทินสุริยคติในบางปี เทศกาลลอยกระทงก็มักจะตรงกับเดือนตุลาคม อย่างเช่นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ที่มีวันลอยกระทงตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมและจะวนกลับมาตรงในวันเดียวกันนี้อีกครั้งเมื่อถึงปี พ.ศ. 2563
เทศกาลลอยกระทง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา โดยจากการค้นพบในบางหลักฐานพบว่า
การลอยกระทงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที แต่อีกหลักฐานหนึ่งก็กล่าวว่าการลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์ หรือพระมหาสาวก สำหรับในประเทศไทย ได้จัดให้มีประเพณีลอยกระทงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และความน่าสนใจที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ในบางประเทศก็มีการจัดเทศกาลลอยกระทงเช่นกัน